ช้าง เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยและยังเป็นสัญลักษณ์ของชาติอีกด้วย
โครงการ “ช้างศิลป์ แผ่นดินเชียงราย” เป็นโครงการภายใต้เจตนารมณ์และการสนับสนุนของคุณหมอกอบชัย จิตรสกุล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ศิลปินเชียงราย “ขัวศิลปะ” ได้เป็นที่รู้จัก ศิลปินท้องถิ่นเชียงรายทั้ง 90 ท่าน ได้เขียนลวดลายศิลปะตามจินตนาการลงบนรูปปั้นช้าง ตามเทคนิคที่ตนเองถนัด
จากประวัติศาสตร์และตำนานของชนชาวสยามมีการกล่าวถึงช้างเสมอ ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายยังคงมีช้างอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ช้างถูกใช้เป็นพาหนะ, ลากซุง รวมถึงงานพิธีกรรมทางพุทธศาสนาหรือประดับตกแต่งด้วยผ้าปักและวาดลวดลายศิลปะลงบนตัว
จากตำนานทำให้เรานึกถึงการสร้างเมืองเชียงราย ที่มีช้างมาเกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 1805 พ่อขุนเม็งรายมหาราชได้เสด็จตามรอยช้างที่หลุดพลัดไปบนเนินเขา ซึ่งมีทัศนียภาพอันงดงามของหุบเขาและแม่น้ำกก พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี จึงโปรดให้สร้างเมือง “เชียงราย” และต่อมาในปี พ.ศ. 2026 ทรงได้สร้างวัดพระธาตุดอยจอมทองขึ้น ณ ที่แห่งนั้นด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ เราได้สูญเสียท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างสรรค์งานแกะสลักบนบานประตูหลวงที่มีชื่อเสียงไว้ ณ วัดพระสิงห์ เป็นงานแกะสลักรูปช้าง ที่เป็นสัญลักษณ์ของ “ธาตุดิน ” 1 ใน ธาตุกัมมัฏฐาน 4
นอกจากนี้ ช้างยังเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย สามารถพบเห็นตามอาคารบ้านเรือนและเอกสารทางราชการต่างๆ อีกทั้งยังเคยได้รับเกียรติให้ปรากฏอยู่บนธงชาติไทย จนถึงปี พ.ศ. 2460
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ “ช้างศิลป์ แผ่นดินเชียงราย” จะยังคงอยู่ต่อไป
Guy Heidelberger
Directeur Alliance Française de Chiangrai
(Alliance Franco-Thaï, Annexe AF Bangkok)
March 13, 2015